นอกจากน้ำท่วมและน้ำหลากที่ทำให้ชาวกรุงเทพมหานครอดหวั่นวิตกไปไม่ได้แล้ว อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ชาวกรุงเทพฯ หลายคนกำลังไม่มั่นใจก็คือ คุณภาพของน้ำประปา หลังจากเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน มีรายงานว่า น้ำได้ทะลักลงคลองประปาหลายจุด เป็นเหตุให้น้ำประปาที่ส่งผ่านตามบ้านเรือนประชาชนในย้ายต่าง ๆ มีกลิ่น มีสีเหลืองผิดปกติไปจากเดิม หลายคนเชื่อว่า น้ำประปาไม่สะอาดอีกต่อไปแล้ว แม้ว่าทางการประปาจะออกมายืนยันว่า น้ำประปายังสะอาดและมีมาตรฐานสากลอยู่ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่กำลังกังวลและไม่แน่ใจในเรื่องว่า น้ำประปาที่ส่งมาในเขตบ้านเรามีคุณภาพจริงหรือไม่ เราขอแนะนำเว็บไซต์ให้เข้าไปตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาได้ที่เว็บไซต์ของการประปานครหลวง mwa.co.th ซึ่งสามารถตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของน้ำได้แบบเรียลไทม์ทุก ๆ 10 วินาทีเลยทีเดียว แถมยังเป็นเว็บไซต์แห่งแรกของโลกที่แสดงผลคุณภาพน้ำประปาแบบอัพเดทรวดเร็วทันใจ
ทั้งนี้ เมื่อคลิกเข้าไปแล้ว จะพบแผนที่แสดงชัดเจนว่า มีสถานีสูบน้ำที่บริเวณใดบ้าง ให้เราตรวจสอบว่า บ้านของเราอยู่ละแวกไหน ได้รับน้ำประปาที่ส่งมาจากสถานีสูบน้ำแห่งใด จากนั้นตรวจสอบตัวเลขที่ปรากฏตามภาพ ทั้ง 2 จุด คือ
ตัวเลขสีเขียว หมายถึง ปริมาณคลอรีนอิสระที่หลงเหลือ น้ำประปาที่มีความปลอดภัย จะต้องมีปริมาณคลอรีนอิสระหลงเหลืออย่างน้อย 0.2 มิลลิกรัมต่อลิตร แต่ไม่ควรเกิน 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร
ตัวเลขสีเหลือง หมายถึงความขุ่น น้ำประปาที่ปลอดภัยต้องมีค่ามาตรฐานไม่เกิน 5 NTU หรือ 5 หน่วยความขุ่น
เมื่อตรวจสอบตัวเลขแล้วอาจจะเห็นว่า หลายจุดมีปริมาณค่าคลอรีนสูงกว่าปกติ ซึ่งคุณจงกลนี อาศุเวทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายคุณภาพน้ำ กปน. ระบุว่า เป็นเพราะมีการเติมสารเคมีบางชนิดลงไปในน้ำประปา รวมทั้งเติมคลอรีนลงไปมากขึ้น เพื่อฆ่าเชื้อโรค และให้น้ำประปามีคุณภาพเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ทำให้น้ำประปาในบางจุดของ กทม.มีกลิ่นคลอรีนแรงผิดปกติ แต่ยืนยันว่า น้ำประปานั้นยังปลอดภัยแน่นอน
ขณะเดียวกัน ชาวฝั่งธนบุรีอาจจะสงสัยว่า ทำไมตัวเลขปริมาณคลอรีนในสถานีสูบน้ำมหาสวัสดิ์ สถานีสูบจ่ายน้ำเพชรเกษม สถานีสูบจ่ายน้ำราษฎร์บูรณะ มีค่าเป็น error ( ข้อมูล ณ วันที่ 4 พฤศจิกายน เวลา 16.15 น.) ทาง ผอ.จงกลนี ได้ชี้แจงว่า เพราะมีการเติมสารคลอรีนลงไปเป็นจำนวนมากเพื่อให้คลอรีนไปได้ถึงที่ปลายสาย ทำให้เครื่องไม่สามารถวัดได้
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าแม้หลายคนจะตรวจสอบข้อมูลคุณภาพน้ำประปาจากเว็บไซต์การประปานครหลวง และพบว่า คุณภาพน้ำประปาแถวบ้านได้มาตรฐานแล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงไม่มั่นใจกับคุณภาพของน้ำที่ไหลผ่านก๊อกน้ำบ้านเราอยู่ดี ดังนั้นแล้ว หากใครยังคงกังวลอยู่ ก็ขอแนะนำให้นำน้ำประปาไปต้มอีกครั้ง ก่อนนำบริโภคจะดีที่สุดค่ะ
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก การประปานครหลวง
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น