เชื่อว่าในขณะนี้ คนไทยทุกคนที่ไม่ว่าจะเป็นผู้ประสบภัย หรือไม่ใช่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม ก็คงอยากจะเห็นน้ำลด สถานการณ์คลี่คลายกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เพราะน้ำท่วมที่แผ่ขยายเป็นวงกว้างไปจนถึงกรุงเทพมหานครเช่นนี้ ล้วนส่งผลให้การกิน การอยู่ การดำเนินชีวิตประจำวัน แม้กระทั่งการสัญจรไปไหนมาไหน ทำได้ยากลำบากเป็นอย่างยิ่ง และสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนนับล้าน ๆ ชีวิต
อย่างไรก็ตาม แม้ทุกคนปรารถนาจะเห็นน้ำลดระดับลง แต่หลายคนกลับลืมนึกต่อไปว่า แล้วหลังน้ำลดล่ะ จะเกิดอะไรขึ้นกับคนไทย และประเทศไทยบ้าง??? เพราะน้ำท่วมที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ได้สร้างความเสียหายอย่างมหาศาล โดยเฉพาะกับภาคเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรม ที่จะส่งผลกระทบต่อเนื่องกันไปเป็นลูกโซ่ ไม่เว้นแม้แต่พวกเราเอง
ลองมาตั้งคำถามไปพร้อม ๆ กับการวิเคราะห์สถานการณ์หลังน้ำลด ใน "10 คำถามหลังน้ำท่วม น้ำลดเราจะเจอกับอะไรในระยะสั้นและระยะกลาง?" จาก เว็บไซต์ Siam Intelligence เว็บไซต์ข่าวและบทวิเคราะห์ รวมถึงการสัมภาษณ์บุคคลที่โดดเด่นในสาขาต่าง ๆ ที่น่าสนใจ เพื่อจะได้พร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับอนาคต...
10 คำถามหลังน้ำท่วม น้ำลดเราจะเจอกับอะไรในระยะสั้นและระยะกลาง?
1. เราจะทำอย่างไรสิ่งที่จำเป็นในยามน้ำท่วม แต่ไม่จำเป็นในยามปรกติ เช่น ทรายจำนวนมหาศาล ที่ถูกนำมาใช้ทำกระสอบทรายกั้นน้ำ และทรายนั้นมีทั้งทรายน้ำจืดและทรายน้ำเค็ม ทรายน้ำเค็มนั้นไม่สามารถนำไปใช้ในการก่อสร้างได้ หรือสุขาลอยน้ำหลักหมื่นหลัง?
2. การทำความสะอาดและฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยที่มีวงกว้างมากขนาดนี้ จะทำอย่างไรให้สามารถใช้แรงงานในการแก้ไขสถานการณ์ได้โดยจะใช้ทรัพยากรในชุมชนและความร่วมมือของชุมชนเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา?
3. เราจะต้องรับมือกับสภาวะความขาดแคลนความมั่นคงทางอาหารในระยะสั้น อย่างน้อยอีก 4 - 6 เดือนจนกว่าพื้นที่เพาะปลูกจะถูกฟื้นฟูและผลิตผลผลิตได้อย่างเพียงพอ เมื่อสินค้าขาดแคลนเราจะต้องพบกับปัญหาเงินเฟ้อตามมา รัฐบาลจะดำเนินนโยบายอย่างไรต่อไป?
4. ภาคแรงงานจะทำอย่างไรเมื่อโรงงานจะต้องฟื้นฟูนิคมและเครื่องจักร อีกอย่างน้อย 2 - 4 เดือน ถ้าหากเอกชนแบกรับที่จะต้องจ่ายเงินเดือนไม่ไหว อาจจะนำไปสู่ปัญหาการเลิกจ้าง นำไปสู่ปัญหาอัตราการว่างงานแตะหลักแสนคน รวมไปถึงนักศึกษาที่จะจบการศึกษาในภาคการศึกษานี้จะมีตำแหน่งงานรองรับเพียงพอหรือไม่?
5. การฟื้นฟูความเชื่อมั่นระหว่างประเทศ โดยเฉพาะภาคบริการธุรกิจท่องเที่ยวไทยซึ่งเป็นรายได้หลักจะทำอย่างไร ญี่ปุ่นหลังจากเหตุการณ์สึนามิที่ผ่านมายังไม่สามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวให้มาอยู่ได้ในระดับเดิม รวมไปถึงการขอความช่วยเหลือในการฟื้นฟูจากต่างประเทศจะประกอบด้วยด้านใดบ้าง?
6. ปัญหาโรคติดต่อที่มาจากน้ำ ประเทศเฮติเคยประสบปัญหาโรคติดต่อที่มาจากภัยพิบัติมาแล้วหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว แพทย์ไทยมีจำนวนเพียงพอหรือไม่ และมีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนดูแลสุขภาพด้วยตนเองอย่างไร?
7. การฟื้นฟูเยียวยาสภาพจิตใจของผู้ประสบภัย จะมีมาตรการอย่างไรเมื่อครั้งนี้เหมือนฝันร้ายที่หลอกหลอนประชาชนเกินหลักล้านคน?
8. ปัญหาสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชน จะทำอย่างไร เช่นกรณีน้ำเน่าที่ไหลลงทะเล น้ำจืดที่รุกพื้นที่น้ำเค็มที่กระทบต่อชาวประมง และรวมไปถึงสารเคมีที่จะถูกนำไปใช้ในการทำความสะอาดจำนวนมากและมีโอกาสไหลลงคูน้ำ หนอง และบึงต่าง ๆ?
9. ปัญหาความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำของแต่ละพื้นที่ ที่เกิดการบาดหมางในช่วงน้ำท่วมและอาจนำไปสู่ "จุดแตกหัก" ทางสังคมจะรองรับอย่างไร ทั้งกรณี คนชนบท-คนเมือง หรือ คนกรุงฯ-คนฝั่งธนฯ?
10. การสืบสวน สอบสวน ถึงต้นตอของปัญหา และถอดบทเรียนเพื่อวางแนวทางการป้องกัน แก้ไข และปรับปรุงในอนาคตจะทำอย่างไร ไม่ให้ทุก ๆ เรื่องจบไปกับสายน้ำ?
นี่อาจเป็นเพียงบางส่วนของคำถามที่ผู้มีส่วนรับผิดชอบจะต้องถูกถามหลังจากน้ำลด SIU ทำหน้าที่เพียงรวบรวมคำถามที่จะ "ถามแทน" จากการรับฟังและมีส่วนร่วมกับการเข้าไปทำงานกับภาคประชาชนในช่วงแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เป็นคำถามที่ถามด้วยความปรารถนาดีและให้กำลังใจกับผู้เกี่ยวข้องทุกคนที่จะต้องมารับโจทย์เหล่านี้ไปตอบ
เกริ่นนำโดยกระปุกดอทคอม
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
Siam Intelligence
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น