จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล็งวิธีแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำดื่ม ด้วยชุดทำน้ำประปาแบบพกพา (องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลิตชุดทำน้ำประปาแบบพกพาเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่กำลังเผชิญปัญหาการขาดแคลนน้ำที่ใช้บริโภค และคิดค้นเครื่องตรวจวัด กระแสไฟฟ้าเพื่อใช้สำหรับการตรวจสอบการรั่วของไฟฟ้า
หลักการของชุดทำน้ำประปาแบบพกพา ประกอบไปด้วยสามวิธีการง่าย ๆ คือ ขั้นแรก นำน้ำที่ต้องการบริโภคมาผ่านการตกตะกอนเอาพวกสารแขวนลอยออก โดยใช้สารอะลูมิเนียมคลอโรไฮเดรตที่มีหลักการทำงานคล้ายกับสารส้ม แต่จะสามารถจับตะกอนต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วกว่า จากนั้นคือการหยดคลอรีนลงในน้ำเพื่อฆ่าเชื้อโรค และขั้นตอนสุดท้ายคือ การนำน้ำมาผ่านอุปกรณ์กรองน้ำที่มีถ่านกำมันสำหรับกรองดูดสีดูดกลิ่นให้น้ำสะอาดมากยิ่งขึ้น
น้ำที่ผ่านการกรองตามขั้นตอนดังกล่าวสามารถนำมาใช้บริโภคได้โดยขึ้นอยู่กับความสะอาดของแหล่งน้ำที่นำมาใช้ตอนแรก ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยจึงแนะนำให้ต้มน้ำให้เดือดเสียก่อน ทั้งนี้ในชุดอุปกรณ์จะมีเชื้อเพลิงสำหรับต้มน้ำได้ประมาณครึ่งชั่วโมงแพ็คมาด้วย ชุดทำน้ำประปาแบบพกพา 1 ชุดนี้สามารถใช้กรองน้ำได้ประมาณ 500 ลิตร
นอกจากนี้ยังมีเครื่องตรวจกระแสไฟฟ้าในน้ำ ที่ทางคณะฯ กำลังเร่งผลิตอยู่โดยใช้ หลักการของความต่างศักย์ระหว่างสองขั้วของปลายอุปกรณ์ เพื่อวัดกระแสไฟฟ้าในน้ำและยังสามารถหาตำแหน่งที่มีกระแสไฟฟ้ารั่วไหลได้อีกด้วย
ขณะนี้ทางคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ มีเครื่องกรองน้ำเตรียมพร้อมสำหรับแจกจ่ายประมาณ 1,200 ชุด และเชื้อเพลิงอีกประมาณ 500 ชุด ในส่วนของชุดอุปกรณ์ตรวจกระแสไฟฟ้าในน้ำอยู่ในระหว่างการผลิตซึ่งคาดการณ์ไว้ว่าภายในวันอังคารนี้ ( 1 พฤศจิกายน) จะได้ประมาณ 1,000 ชุด
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น